Homeopathy (โฮมิโอพาธีย์) เป็นหนึ่งในการแพทย์ทางเลือกที่เกิดขึ้นที่เยอรมันเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน คิดค้นโดยนายแพทย์แซมมวล คริสเตียน เฟดดริก ฮาห์เนมานน์ (Dr.Samuel Christian Hahnemann) ใช้ดูแลการเจ็บป่วยทั้งแบบเฉียบพลัน (acute) และเรื้อรัง (chronic) หรือแม้แต่กรณีโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการศึกษาวิจัยยอมรับ มีการบันทึกข้อมูลอาการและตำรับบำบัดที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
หนึ่งในการแพทย์ทางเลือกที่ใช้ทั่วโลก
Homeopathy ได้รับการยอมรับ และเป็นหนึ่งในการแพทย์ทางเลือกที่เอกสารขององค์การอนามัยโลกตีพิมพ์ในปี 2019 ระบุว่ามีการใช้ใน 100 ประเทศทั่วโลก
รักษาอะไรได้บ้างและอย่างไร
โฮมิโอพาธีย์เป็นการรักษาตามแนวธรรมชาติที่เชื่อว่าร่างกายของเรามีความสามารถในการเยียวยารักษาตัวเองได้ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นลักษณะเฉพาะแต่ละบุคคล (individualization) การเยียวยาตัวเองนี้จะเกิดขึ้นได้ถ้าได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม โฮมิโอพาธีย์รักษาผู้ป่วย (ที่ถูกต้องพูดว่ากระตุ้นให้ผู้ป่วยรักษาตัวเอง) เมื่อ Homeopathy ช่วยปรับสมดุลย์ของร่างกายโดยองค์รวมแล้วการเจ็บป่วยของผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็จะดีขึ้นเอง
ใช้อะไรรักษา และมีผลข้างเคียงหรือไม่
Homeopathy เป็นศาสตร์การแพทย์ที่ปลอดภัย ใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย แม้แต่เด็ก ผู้สูงวัย สัตว์ ภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ (Homeopath) ไม่มีผลข้างเคียงเพราะสกัดจากสารในธรรมชาติด้วยกระบวนการยิ่งยวด ในกระบวนการเตรียมตำรับโฮมิโอพาธีย์ ใช้เพียงน้ำและแอลกอฮอล์เป็นหลัก ไม่มีการใช้สารเคมีอื่น
ขั้นตอนในการรักษา และการรักษาต่อเนื่องทำอย่างไร
ปรัชญาของ Homeopathy คือ รักษาผู้ป่วยให้มีสุขภาพดี (to restore the sick to health) เพราะโฮมิโอพาธีย์เน้นที่การรักษาผู้ป่วย สิ่งสำคัญคือ Homeopath ต้องเข้าใจผู้ป่วยและการเจ็บป่วยแต่ละรายอย่างลึกซึ้ง ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยด้วยอาการปวดศีรษะ (migraine) 10 คน อาจจะได้รับตำรับโฮมิโอพาธีย์ 10 ตัวที่แตกต่างกัน เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีลักษณะแตกต่างกัน และในรายละเอียดการเจ็บป่วยของผู้ป่วยทั้ง 10 คนแตกต่างกัน ตำรับโฮมิโอพาธีย์จึงต่างกัน
ขั้นตอนในการรักษา Homeopath จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียด การซักประวัติครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น
- ประวัติการเจ็บป่วยตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ว่ามีการผิดปกติของระบบใดบ้างและในลักษณะไหน เพื่อให้เข้าใจการดำเนินของการเสียสมดุลย์ที่ผ่านมาทั้งหมด
- สิ่งที่อาจจะเกี่ยวข้องหรือเป็นสาเหตุ ปัจจัยที่ทำให้อาการต่างๆดีขึ้น และแย่ลง
- ลักษณะนิสัยใจคอของผู้ป่วย จุดอ่อนไหว (sensitivity) และปฏิกริยาโต้ตอบ (reaction) ในสถานการณ์ต่างๆ
- ลักษณะภาพรวมของผู้ป่วย เช่น การทนต่ออากาศร้อนและหนาว การกระหายน้ำ การอยากอาหาร ปัสสาวะ อุจจาระ เหงื่อ การนอน ประจำเดือน
- ประวัติการผ่าตัด และอุบัติเหตุ
- ประวัติการเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัว
หลังจากได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว Homeopath จะนำไปวิเคราะห์เทียบกับฐานข้อมูลบันทึกลักษณะบุคคลและอาการ เพื่อทำความเข้าใจ ลักษณะเฉพาะบุคคล (individualization) ของผู้ป่วยแต่ละคน และจัดตำรับ Homeopathy ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยคนนั้นๆ
Homeopath จะนัดติดตามการรักษาเป็นระยะ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลง ระยะที่นัดติดตามขึ้นอยู่กับลักษณะอาการเจ็บป่วยและความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละคน
บทความโดย พญ.จงกล เลิศเธียรดำรง