สวัสดีค่ะ มายด์เป็นนักกายภาพบำบัดที่มีโอกาสดูแลผู้มีอาการออฟฟิศซินโดรมอยู่เป็นประจำ ซึ่งพบว่าผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรมมักมาพร้อมกับอาการปวดเมื่อยสะสมจากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ หรือข้อมือ โดยสาเหตุหลักๆ เกิดจากพื้นที่ทำงานเช่น โต๊ะ และอุปกรณ์ทำงานอื่นๆที่ไม่เหมาะสมกับร่างกายนั่นเองค่ะ
วันนี้มายด์เลยอยากแบ่งปันแนวทางง่ายๆ ในการปรับพื้นที่ทำงานให้สอดคล้องกับหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) เพื่อช่วยให้คุณนั่งทำงานได้สบายขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงจากการปวดเมื่อยเรื้อรัง และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาวค่ะ
ก่อนอื่น ขอเล่าสักเล็กน้อยว่า “ออฟฟิศซินโดรม” คืออะไร
อาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือ กลุ่มอาการปวดเมื่อยที่เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อในท่าทางเดิมซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ การใช้เมาส์หรือคีย์บอร์ดในท่าที่ไม่ถูกหลัก โดยอาการที่พบบ่อย เช่น ปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง หรือชามือ ซึ่งหากปล่อยไว้นานโดยไม่แก้ไข อาจกลายเป็นอาการเรื้อรังและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ: ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)
เมื่อรู้แล้วว่าออฟฟิศซินโดรมเกิดจากอะไร เรามาเริ่มจัดโต๊ะให้ถูกหลักกันดีกว่าค่ะ
โฮมิโอพาธีย์เป็นการรักษาตามแนวธรรมชาติที่เชื่อว่าร่างกายของเรามีความสามารถในการเยียวยารักษาตัวเองได้ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นลักษณะเฉพาะแต่ละบุคคล (individualization) การเยียวยาตัวเองนี้จะเกิดขึ้นได้ถ้าได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม โฮมิโอพาธีย์รักษาผู้ป่วย (ที่ถูกต้องพูดว่ากระตุ้นให้ผู้ป่วยรักษาตัวเอง) เมื่อ Homeopathy ช่วยปรับสมดุลย์ของร่างกายโดยองค์รวมแล้วการเจ็บป่วยของผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็จะดีขึ้นเอง
1. เก้าอี้ทำงาน: ปรับให้ถูกต้อง ลดอาการปวดหลัง
- เลือกเก้าอี้ที่สามารถรองรับกระดูกสันหลังส่วนล่างได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะช่วงเอวที่มักรับน้ำหนักมากที่สุด
- ปรับความสูงของเก้าอี้ให้เท้าวางราบกับพื้น หากเท้าไม่ถึงพื้น ควรมีที่วางเท้าเสริม
- หากเก้าอี้มีที่วางแขน ควรวางแขนเบาๆ ให้ข้อศอกแนบลำตัว และไหล่ไม่ยกเกร็ง
2. โต๊ะ: จัดให้ถูกหลัก ลดความเมื่อยล้าจากการนั่งนาน
- ใต้โต๊ะควรมีพื้นที่โล่ง เพื่อให้ขาเคลื่อนไหวได้สะดวก ไม่ควรมีของเกะกะ
- ถ้าโต๊ะเตี้ยเกินไปและไม่สามารถปรับได้ อาจเสริมขาโต๊ะด้วยวัสดุแข็งแรงให้ได้ระดับที่เหมาะสม
- ถ้าโต๊ะสูงเกินไป อาจปรับเก้าอี้ให้สูงขึ้น แล้วใช้ที่วางเท้าช่วยรองรับ เพื่อให้ต้นขาอยู่ในแนวขนานกับพื้น
- หากขอบโต๊ะแข็งหรือมีเหลี่ยม ควรบุวัสดุรองเพื่อป้องกันแรงกดที่ข้อมือ
3. คีย์บอร์ดและเมาส์: วางให้เหมาะสม ป้องกันข้อมืออักเสบ
- วางคีย์บอร์ดให้อยู่ตรงหน้าลำตัว ให้ข้อมืออยู่ในแนวตรง ไม่งุ้มขึ้นหรือลง
- เมาส์ควรอยู่ใกล้ตัว ใช้งานได้โดยไม่ต้องเอื้อมหรือเกร็งแขน
- ระดับของข้อมือควรอยู่ในแนวเดียวกับข้อศอกหรือต่ำกว่าเล็กน้อย เพื่อไม่ให้เกิดแรงตึงสะสม
- ควรปรับความไวของเมาส์ให้พอดี เพื่อลดการเกร็งและแรงกดขณะใช้งาน
4. จอภาพ: ปรับให้อยู่ในระดับสายตา ลดอาการปวดคอ
- จัดวางระดับหน้าจอให้อยู่ตรงหน้าพอดี โดยอยู่ห่างจากดวงตาประมาณ 1 ช่วงแขน
- ขอบบนของหน้าจอควรอยู่ในระดับสายตาหรือต่ำกว่านิดหน่อย
- หากใส่แว่นตาสองชั้น แนะนำให้ลดระดับหน้าจอลงเล็กน้อย เพื่อไม่ต้องเงยหน้ามองหน้าจอบ่อยๆ
5. แล็ปท็อป: ปรับเปลี่ยนท่าทาง ป้องกันอาการปวดหลัง ปวดคอ
- การใช้แล็ปท็อปต่อเนื่องอาจทำให้รู้สึกไม่สบายได้ในระยะยาว
- หากต้องใช้งานเป็นประจำ ควรใช้อุปกรณ์เสริม เช่น คีย์บอร์ดและเมาส์ พร้อมแท่นวาง เพื่อยกระดับหน้าจอให้อยู่ในระดับสายตา
6. อุปกรณ์ที่ใช้บ่อย: วางไว้ใกล้มือ ไม่ปวดไหล่
- โทรศัพท์ เอกสาร หรือของใช้อื่นๆ ควรอยู่ใกล้มือ เพื่อหลีกเลี่ยงการบิดตัวหรือเอื้อมบ่อยๆ
- หากต้องใช้โทรศัพท์นาน หรือพูดคุยพร้อมทำงาน ควรใช้หูฟังหรือลำโพงแทน หลีกเลี่ยงการหนีบโทรศัพท์ไว้ที่คอ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อคอและไหล่ตึงโดยไม่รู้ตัว
สุดท้ายนี้… “ขยับบ่อยๆ คือหัวใจสำคัญ”
แม้จะจัดพื้นที่ทำงานได้ถูกต้องแค่ไหน แต่หาก “นั่งอยู่กับที่” นานเกินไป ก็ยังเป็นภาระต่อร่างกายค่ะ มายด์แนะนำให้ลุกขึ้นขยับร่างกายทุกๆ 30-60 นาที ไม่ว่าจะเป็นการเดิน ยืดแขน หมุนไหล่ หรือเหยียดนิ้วมือเบาๆ ก็สามารถช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น อีกทั้งช่วยให้คุณรู้สึกสดชื่นและสบายตัวขึ้นเยอะเลยค่ะ
หากคุณเริ่มรู้สึกปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ หรือรู้สึกเมื่อยล้าแม้ไม่ได้ออกแรงมาก อาจเป็นสัญญาณเตือนเล็กๆ ว่า ถึงเวลาที่ต้องปรับ “มุมทำงาน หรือ พื้นที่ทำงาน” ให้ดีขึ้นแล้วนะคะ หากอาการปวดที่เป็นอยู่นั้นไม่ทุเลาลงสามารถทักเข้ามาสอบถามได้ หรืออยากให้ประเมินท่าทางการทำงานเป็นรายบุคคลก็สามารถเข้ามาปรึกษาได้ที่ Body Smile สหคลินิกกายภาพบำบัด และเวชกรรมฟื้นฟูสุขภาพ เพราะสุขภาพที่ดี เริ่มต้นได้จากรายละเอียดเล็กๆ ที่เราใส่ใจทุกวันนะคะ
บทความโดย: อรวรรณ ใจหาญ (มายด์) นักกายภาพบำบัด